วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติความเป็นมาของ หมี ^^

เทดดี้แบร์เพิ่งจะปรากฏตนเป็นเพื่อนของเราเมื่อไม่นานมานี้เอง เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในปี ค . ศ . 1902 ที่เกิดเหตุการณ์ในคนละฟากมหาสมุทร ทั้งในสหรัฐอเมริกาและเยอรมัน จนเป็นกำเนิดของ ตุ๊กตาหมี ที่ชื่อ เทดดี้แบร์

เรื่องราวในสหรัฐอเมริกาเล่ากันว่า เทดดี้แบร์มาจากการวาดของนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองที่ชื่อ คลิฟฟอร์ด เบอร์รีแมน วาดภาพที่ชื่อว่า "Drawing the Line in Mississippi" เป็นภาพประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลท์ ปฏิเสธจะยิงลูกหมีที่ถูกจับล่ามเอาไว้กับต้นไม้ ตามเรื่องราวที่เล่ากันมาบอกว่า ประธานาธิบดีรูสเวลท์ เดินทางไปมลรัฐมิสซิสซิปปี้เพื่อช่วยเจรจาแบ่งเส้นพรมแดนที่มีปัญหากับรัฐลุยส์เซียน่า และเจ้าภาพให้การต้อนรับผู้นำของประเทศโดยชวนไปล่าหมีในป่า แต่โชคร้ายที่ไม่พบหมีให้ล่า จึงมีคนหัวใสนำเอาลูกหมีมาให้ แต่ประธานาธิบดีปฏิเสธที่จะยิงหมีที่ถูกล่ามเช่นนั้น ทำให้นายเบอร์รีแมนนักวาดภาพการ์ตูนประทับใจจึงวาดภาพนี้ขึ้นมา

การ์ตูนปรากฏใน เดอะวอชิงตันโพสต์ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 1902 และเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก เป็นแรงบันดาลใจให้สามีภรรยาที่ชื่อ มอร์ริส และโรส มิชทอมส์ ซึ่งอยู่ในนิวยอร์คทำ ตุ๊กตาหมี ขึ้น เพื่อยกย่องการกระทำของประธานาธิบดีรูสเวลท์ ครอบครัวมิชทอมส์ตั้งชื่อ ตุ๊กตาหมี ของตนว่า “ เทดดี้แบร์ ” มาจาก เทดดี้ อันเป็นชื่อเล่นของ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ และนำวางโชว์ที่ตู้กระจกหน้าร้านขายลูกกวาดและเครื่องเขียนของตน ตุ๊กตาที่วางโชว์หน้าร้านตัวนี้ ต่างจาก ตุ๊กตาหมี ที่เคยทำกันมาซึ่งมักจะมีหน้าตาดุร้าย และยืนสี่ขาเหมือนกับหมีจริง แต่หมีของครอบครัวมิชทอมส์เป็นลูกหมีดูน่ารัก ไร้เดียงสา ยืนตัวตรงเหมือนหมีในการ์ตูนของเบอร์รี่แมน นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ ตุ๊กตาหมี “ เทดดี้แบร์ ” ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนครอบครัวมิชทอมส์สามารถตั้งโรงงานผลิต ตุ๊กตาหมี ขึ้นเป็นครั้งแรกในอเมริกา ที่ชื่อว่า Ideal Novelty and Toy

Image
ภาพการ์ตูนในวอชิงตันโพสต์
ขณะเดียวกัน อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร ริชาร์ด ชไตฟ์ ชายหนุ่มผู้ทำงานกับป้า มาร์กาเร็ตเท ชไตฟ์ ( Margarete Steiff) นักธุรกิจของเล่นเด็กในเยอรมัน ริชาร์ดเรียนมาทางด้านศิลปะ เขาชอบวาดรูป และไปที่สวนสัตว์ในสตุตการ์ตบ่อย ๆ เชไตฟ์ จะทำตุ๊กตาหมี ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ขณะนั้นการสื่อสารยังไม่เจริญเท่าใด ทั้งคู่จึงไม่ล่วงรู้ถึงความคิดสร้างสรรค์ของกันและกันตุ๊กตาหมี ของมิชทอมส์เป็นลูกหมีตาโต ตามการ์ตูนที่วาดโดยเบอร์รี่แมน ส่วนของหมีชไตฟ์มีลักษณะหลังค่อม จมูกยาว ดูเหมือนลูกหมีจริง ๆ มากกว่า

ไม่นานหลังจากนั้น เดือนมีนาคมปี 1903 ในงานแสดงของเล่น เมืองลิปซิกในเยอรมัน ชไตฟ์เปิดตัว ตุ๊กตาหมี ครั้งแรกในงานนี้ แต่พ่อค้าชาวยุโรปไม่ค่อยให้ความสนใจนัก ตรงกันข้ามพ่อค้าของเล่นชาวอเมริกัน ซึ่งรู้ว่าชาวอเมริกันกำลังสนใจ “ เทดดี้แบร์ ” จึงสั่งซื้อทีเดียว 3,000 ตัว ชไตฟ์จึงเข้าสู่ตลาดอเมริกาในจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมอย่างที่สุด

Image
หมีของชไตฟ์(Steiff)ยุคแรก
ความคลั่งไคล้เทดดี้แบร์

ปี 1906 ความคลั่งไคล้ ตุ๊กตาหมี เทดดีแบร์ของคนอเมริกันถึงขีดสุด พอ ๆ กับความนิยมตุ๊กตาหัวกะหล่ำปลี (Cabbage Patch Kid) ในทศวรรษปี 1980 และตุ๊กตาบีนนี่บาบี้ (Beanie Babie) ในทศวรรษปี 1990 เวลานั้นสาว ๆ ถือ ตุ๊กตาหมี กันไปทุกหนแห่ง เด็กๆ นิยมถ่ายรูปคู่กับตุ๊กตาเทดดี้แบร์ ประธานาธิบดีรูสเวลต์ ใช้ ตุ๊กตาหมี เป็นสัญญลักษณ์ในการหาเสียงเลือกตั้งจนได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สอง ซีมัวร์ อีตัน นักการศึกษาและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เขียนหนังสือชุดสำหรับเด็กเกี่ยวกับการผจญภัยของหมีที่ชื่อรูสเวลต์ นักแต่งเพลงชาวอเมริกันชื่อ เจ . เค . แบรตตัน แต่งเพลง “The Teddy Bear Two Step” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “The Teddy Bear's Picnic” ซึ่งยังคงร้องกันมาจนถึงทุกวันนี้

ผู้ผลิต ตุ๊กตาหมี ในอเมริกาทำ ตุ๊กตาหมี ออกมาทุกสีสันและทุกประเภท ตั้งแต่ ตุ๊กตาหมี บนรองเท้าสเก็ตน้ำแข็ง ไปจนถึง ตุ๊กตาหมี ที่มีตาเป็นหลอดไฟ คำว่า “ เทดดี้แบร์ ” กลายเป็นคำซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง ตุ๊กตาหมี แม้กระทั่งชไตฟ์ผู้ผลิต ตุ๊กตาหมี ในเยอรมัน ก็รับเอาคำนี้ในการเรียก ตุ๊กตาหมี ของตน

ไม่ใช่เพียงบริษัทสตีฟและบริษัทไอเดียลเท่านั้นที่อยู่ในธุรกิจนี้ แต่มีบริษัทอีกนับสิบบริษัทในอเมริกาที่เปิดกันขึ้นมาในยุคนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ปิดกิจการในเวลาต่อมา เหลือเพียงบริษัท กันด์แมนูแฟคเจอริ่ง ที่ก่อตั้งในปี 1906 และยังคงทำ ตุ๊กตาหมี มาถึงปัจจุบัน

Image
ตุ๊กตาหมีของชูโกขนาด 12 นิ้ว เรียกว่าหมี Yes/No เพราะมันจะพยักหน้า เมื่อมีการขยับหาง
บริษัทผู้ผลิตเทดดี้แบร์ของอเมริกาเผชิญหน้ากับการแข่งขันจาก ตุ๊กตาหมี เยอรมัน ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ของเยอรมันเป็นบริษัทเก่าแก่และมั่นคง หลายบริษัทร่วมมือกับเสตียฟในการทำตุ๊กตาหมี ที่มีคุณภาพออกมา อย่างเช่น บิง , ชูโก , และ เฮอร์มาน เป็นต้น ทำให้บริษัทอเมริกันจำนวนมากสู้ไม่ได้ ต้องปิดกิจการไป

ในอังกฤษมีบริษัท เจ . เค . ฟาร์เนลแอนด์โค ที่เป็นต้นกำเนิดของ วินนี่เดอะพูห์ ซึ่งคริสโตเฟอร์ โรบิน ไมล์นได้รับเป็นของขวัญวันเกิดจากคุณแม่ในปี 1921 ห้าปีต่อมาพ่อของเขา เอ . เอ . ไมล์นพิมพ์หนังสือเรื่อง วินนี่เดอะพูห์ ออกจำหน่าย เป็นเรื่องการผจญภัยของลูกชายที่ชื่อคริสโตเฟอร์ โรบินกับ วินนี่เดอะพูห์ และเพื่อนตุ๊กตาสัตว์อื่น ๆ ทุกวันนี้เราสามารถชมตุ๊กตาของจริงที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง วินนี่เดอะพูห์ ได้ที่ห้องเซ็นทรัลชิลเดร็นของห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์คสาขาดอนเนลล์ ในขณะที่หนังสือ วินนี่เดอะพูห์ ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย

การชะงักงันในการผลิต ตุ๊กตาหมี ในยุโรป อันเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยาวนานถึง 4 ปี ทำให้ตุ๊กตาหมี ส่วนใหญ่ยังนิยมทำด้วยมือที่มีคุณภาพดี มายาวนานถึง 25 ปี สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ ตุ๊กตาหมี จากเยอรมันหยุดการผลิต จึงมีโรงงาน ตุ๊กตาหมี ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น ชาดเวลเล่ย์ , ชิลเทิร์น และดีน ร่วมมือกับ ฟาร์เนลล์ในอังกฤษ พินเทล และ ฟาดาป ตั้งขึ้นในฝรั่งเศส จอยทอยส์ ในออสเตรเลีย เป็นต้น วัสดุที่ใช้ในการทำตุ๊กตามีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ตาที่ทำด้วยปุ่มรองเท้าบูต เปลี่ยนเป็นตาที่ทำจากแก้ว วัสดุที่ใช้บรรจุในตัวตุ๊กตาเปลี่ยนจากนุ่นเป็นวัสดุอย่างอื่นที่นุ่มกว่า

ตุ๊กตาหมี
ตุ๊กตาหมีของ circa ในปี 1903
อเมริกาไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสงคราม อุตสาหกรรม ตุ๊กตาหมี จึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริษัท นิคเกอร์บ็อคเกอร์ ก่อตั้งในปี 1920 ก็ยังคงทำตุ๊กตาเทดดี้แบร์มาจนถึงทุกวันนี้

เก้าปีต่อมาแม้ว่าอเมริกาจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และผู้ผลิต ตุ๊กตาหมี ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเงิน หลังจากปี 1929 บริษัทในอเมริกาจำนวนมากถ้าไม่หาวิธีทำ ตุ๊กตาหมี ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ก็ต้องปิดตัวเองไป

ในระหว่างทศวรรษปี 1920-1930 หมีที่มีเสียงดนตรี และหมีไขลานเป็นที่นิยมกันมาก มีการผลิตกันทั่วโลก บริษัทที่ขายดีที่สุดอาจจะเป็นบริษัทเยอรมันสองบริษัทที่ชื่อ ชูโก และ บิง สองบริษัทนี้ทำทั้ง หมีที่เดินได้ เต้นรำได้ เล่นลูกบอล และแม้กระทั่งหมีตีลังกา

แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ทำให้ธุรกิจตุ๊กตาหมี ชะงักงันลงอีก แทนที่คนงานจะผลิตตุ๊กตา ต้องไปผลิตยุทธปัจจัยสำหรับสงครามแทน บางบริษัทปิดตัวเองลงและไม่เคยเปิดอีกเลย

ความเปลี่ยนแปลงหลังปี 1950

ขณะที่ผู้ผลิตเทดดี้แบร์ดั้งเดิมยังคงภูมิใจกับตุ๊กตาที่เย็บด้วยมือ และเส้นใยจากธรรมชาติ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ผลิตเหล่านี้ถูก ท้าทายด้วยความต้องการของลูกค้าที่ต้องการตุ๊กตาที่ซักได้ ตุ๊กตาที่ทำด้วยใยสังเคราะห์จึงเป็นที่นิยม ผู้ซื้อชอบแนวความคิดเรื่องตุ๊กตาซักได้ ตุ๊กตาหมี หลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงถูกทำด้วยผ้าไนลอนหรือผ้าอะครีลิกเป็นส่วนใหญ่ ตาทำด้วยพลาสติก และยัดตัวหมีด้วยฟองน้ำ

ความนิยมที่หวนคืน

น่าแปลกที่ผู้ทำให้ความนิยมเทดดี้แบร์กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมไปแล้ว กลับไม่ใช่เป็นผู้ผลิต แต่เป็นนักแสดงละครโทรทัศน์ที่ชื่อปีเตอร์ บูลของอังกฤษ ซึ่งเผยความรักที่เขามีต่อเทดดี้แบร์ และความเชื่อของเขาที่ว่าเทดดี้แบร์มีความสำคัญต่ออารมณ์ของผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ภายหลังจากเขาได้รับจดหมายถึง 2,000 ฉบับแสดงความเห็นด้วยกับการที่เขาเปิดเผยความรู้สึกต่อสาธารณะ ปีเตอร์รู้ว่าเขาไม่ได้รู้สึกเช่นนี้แต่เพียงลำพัง แรงบันดาลใจจากจดหมายเหล่านั้นทำให้เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เล่าประสบการณ์ของเทดดี้แบร์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา หนังสือชื่อว่า หมีกับฉัน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “ เทดดี้แบร์บุ้ค ” ปรากฏว่าหนังสือของเขาตรงกับความรู้สึกของคนอีกหลายพัน ที่เชื่อว่าเทดดี้แบร์มีอิทธิพลต่ออารมณ์ของตนเช่นเดียวกัน ปีเตอร์ บูลสร้างกระแสความนิยมเทดดี้แบร์ให้กลับมาอีกครั้งโดยมิได้ตั้งใจ แม้จะไม่ได้มากเท่ากับสมัยที่เป็นความนิยมในฐานะของเล่นเด็ก แต่กลายเป็นความนิยมในฐานะของสะสมสำหรับผู้ใหญ่ เทดดี้แบร์ ในวันนี้จึง “ ไม่ใช่ของเล่น ” สำหรับเด็กอีกต่อไป

ตุ๊กตาหมี
Jenni สูง 18 นิ้ว ตุ๊กตาหมีผลิตในอังกฤษในยุคต้นๆ
ปี 1974 เบเวอร์ลี พอร์ต นักทำตุ๊กตาชาวอเมริกัน ผู้ชื่นชอบการทำ ตุ๊กตาหมี เธอนำตุ๊กตาหมี ฝีมือของเธอไปในงานแสดงตุ๊กตา ตุ๊กตาที่ชื่อ ธีโอดอร์ บี . แบร์ คล้องแขนกับตุ๊กตาอีกตัวหนึ่งไปแสดงในงาน ปีต่อมา เบเวอร์ลี นำภาพสไลด์ที่เธอสาธิตการทำ ตุ๊กตาหมี ให้กับชมรมตุ๊กตาของสหรัฐมาฉาย การสาธิตของเธอสร้างความตื่นเต้นและตื่นตัวให้กับผู้ชมเป็นอันมาก ความตื่นตัวเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาแล้วก็ขยายออกไปทั่วโลก ผู้คนจำนวนมากได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเบเวอร์ลี เริ่มแสดงความสามารถในการออกแบบ และตัดเย็บ ตุ๊กตาหมี ด้วยตนเองขึ้น นักออกแบบเทดดี้แบร์เกิดขึ้นมาคนแล้วคนเล่า ด้วยแรงบันดาลใจที่ได้รับจากเบเวอร์ลี ผู้สร้างคำว่า “ ศิลปินเทดดี้แบร์ ” ขึ้นมา และถูกยกย่องว่าเป็นมารดาแห่ง ศิลปะเทดดี้แบร์ ทุกวันนี้ศิลปินเทดดี้แบร์หลายพันคนทั่วโลก สร้างสรรค์ผลงานจากในบ้าน ไปสู่มือนักสะสมผู้ชื่นชมหมีน้อยที่น่ารักและอบอุ่น

ปัจจุบันศิลปิน ตุ๊กตาหมี สร้างสรรค์งานออกแบบให้กับผู้ผลิตแบบอุตสาหกรรม เพื่อให้นักสะสมมีโอกาสสะสมตุ๊กตาจากนักออกแบบ ในราคาที่ถูกลง อันเนื่องมาจากการผลิตเป็นจำนวนมากนั่นเอง

ความนิยมใน ตุ๊กตาหมี เพิ่มมากขึ้นในฐานะเป็นของสะสมสำหรับผู้ใหญ่ ทำให้ราคา ตุ๊กตาหมี โบราณ ที่ทำด้วยมือ และคุณภาพดี ซึ่งกันทำในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 มีค่าสูงขึ้น ตุ๊กตาหมี โบราณที่ผลิตขึ้นในทศวรรษปี 1970 และ 1980 นำออกแสดงในงานประมูลตุ๊กตาและของเล่นโบราณกันมากขึ้น และราคาในการประมูลก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ราคาประมูลสูงสุดที่เคยมีการบันทึกคือในปี 1994 มีราคาสูงถึง 176,000 ดอลล่าร์ เป็นหมีที่ผลิตในเยอรมันโดยบริษัท ชไตฟ์ การประมูลกระทำกันที่ สถาบันการประมูลคริสตี้ ในสหรัฐอเมริกา

ถึงวันนี้ ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าความนิยมในเทดดี้แบร์จะลดน้อยถอยลง ในปี 1999 เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวตัวเลขการใช้จ่ายที่นักสะสมควักเงินซื้อ ตุ๊กตาหมี สูงถึง 441 ล้านดอลล่าร์

ขณะนี้เรากำลังย่างสู่ศตวรรษที่ 21 และดูเหมือนว่าความต้องการ ตุ๊กตาหมี เป็น ของขวัญ เพื่อสื่อแทนความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น และการยอมรับมีมากขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด




เรียบเรียงโดย FourBears